quote-pic-01

โมเดลสร้างสรรค์

food-citizen-pic-011-1

เป็นการสำรวจศึกษาและเปิดโอกาสให้มีการค้นคว้าหาความรู้จากเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานและทีมวิชาการนั้น ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และทักษะกระบวนการขับเคลื่อนสังคมโดยจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีโครงการ ได้แก่ การวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาอย่างเป็นระบบและได้ประเมินผลการทำงานด้วยตนเอง รวมทั้งสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้และเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ อีกทั้งเป็นการยกระดับความรู้ด้วยการบูรณาการตลอดห่วงโซ่อาหาร คือการสร้างความเชื่อมโยงตั้งแต่ฐานทรัพยากรธรรมชาติ การผลิต การกระจาย และการบริโภคที่ก่อให้เกิดความสมดุลและความยั่งยืนสู่ระบบอาหาร

โดยเน้นการประสานความร่วมมือด้วยกิจกรรมเวทีในรูปแบบต่างๆ ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ และความร่วมมือระหว่างภาคีกลุ่มงานอาหารปลอดภัย ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ รวมถึงกรรมการกำกับทิศแผนอาหาร คณะบริหารสำนักห้าและสำนักอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยเรื่องอาหาร

การผลิตแบบเกตษรกรรมยั่งยืน คือ วิถีเกษตรกรรมที่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และดำรงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพและพอเพียงตามความจำเป็นพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรและผู้บริโภค พึ่งพาตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้ออำนวยให้เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นอิสระ ทั้งนี้เพื่อความผาสุกและความอยู่รอดของมวลมนุษย์ชาติโดยรวม

ตลาดสีเขียว คือ พื้นที่การเชื่อมโยงผลผลิตอินทรีย์สู่ผู้บริโภคด้วยรูปแบบต่างๆ อาทิ การจัดตลาดนัดประจำสัปดาห์หรือประจำเดือน การส่งตรงผลผลิตจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคในระบบสมาชิก เป็นต้น โดยทุกช่องทางเหล่านี้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคมีความตระหนักถึงการเรียนรู้ระหว่างกัน มีการพัฒนาให้ช่องทางตลาดสนับสนุนการค้าที่เป็นธรรม สุขภาพ ความยั่งยืน การดูแลเอาใจใส่ทั้งต่อชุมชนและระบบนิเวศ

แหล่งให้บริการอาหาร คือ ร้านอาหารสุขภาพในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ร้านขายอาหารทั่วไป ครัวมหาวิทยาลัย ครัวโรงแรม ครัวสำนักงาน โดยมีการจัดการด้านอาหารพร้อมรับประทานที่ใส่ใจในรสชาติอาหารที่ดีต่อสุขภาพ คือลดหวาน มัน เค็ม ไม่ใช้ผงชูรส สารปรุงแต่งที่อันตราย มีอัตราส่วนในหนึ่งจาน 2 : 1 : 1 คือผักผลไม้ 2 ส่วน แป้ง 1 ส่วน และโปรตีนอีก 1 ส่วน รวมทั้งการใช้วัตถุอาหารที่ปลอดภัยโดยเฉพาะผักไร้สารเคมี เป็นต้น

โรงพยาบาลสีเขียว คือ โรงพยาบาลที่มีการจัดการเรื่องอาหารในครัวโรงพยาบาล ทั้งในด้านคุณค่าสารอาหารและรสชาติอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมทั้งการจัดหาวัตถุดิบที่ปลอดภัย โดยเฉพาะผักและผลไม้อินทรีย์ มีการจัดตลาดนัดสีเขียวเพื่อให้เกษตรกรได้นำผักผลไม้อินทรีย์มาจำหน่าย อันจะนำไปสู่ขั้นตอนสู่ครัวโรงพยาบาล การเข้าถึงผลผลิตอินทรีย์ของบุคลากรโรงพยาบาล ครอบครัวคนไข้ และชุมชนโดยรอบ

โรงเรียนสีเขียวและศูนย์เด็กเล็ก คือ การจัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่คำนึงถึงสุขภาพของนักเรียนและเด็กเล็ก ให้ได้รับคุณค่าสารอาหารที่ครบถ้วนและผักผลไม้ที่ปลอดภัย โดยส่งเสริมการทำแปลงเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียน หรือการเชื่อมโยงผลผลิตในพื้นที่สู่ครัวโรงเรียน ทั้งนี้ยังเน้นกระบวนการเรียนของเด็กให้เข้าใจถึงการผลิตอาหาร การปรุง และเตรียมอาหารอันเป็นการส่งเสริมทักษะชีวิตด้วย

ผู้บริโภคและพลังพลเมืองอาหาร คือ บุคคลหรือกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจและตระหนักถึงเรื่องอาหารและการกินที่ส่งผลต่อสุขภาพตน สุขภาพสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยแสดงบทบาทที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อระบบอาหาร (ดูเพิ่มเติมในพลเมืองอาหาร) ในรูปแบบพลังผู้บริโภคสีเขียว