intro

ดาวเด่น

….

aw-icons_production-1
0

การผลิตยั่งยืน

รายละเอียด
aw-icons_market-1
0

ตลาดสีเขียว

รายละเอียด
aw-icons_food-service-1
0

แหล่งให้บริการอาหาร

รายละเอียด
aw-icons_hospital-1
0

โรงพยาบาลสีเขียว

รายละเอียด
aw-icons_school-1
0

โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กสุขภาวะ

รายละเอียด
aw-icons_citizen-1
0

ผู้บริโภคและพลังพลเมืองอาหาร

รายละเอียด

ดาวเด่นโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กสุขภาวะ

โรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวาน

โรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวาน ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ พื้นที่การทำงานของโครงการพัฒนาชุมชนส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ หุบเขาภูแลนคา จ.ชัยภูมิ เป็นโรงเรียนระดับอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนนักเรียน 220 คน ครู 12 คน อยู่บนภูแลนคาซึ่งห่างไกลตัวเมืองและตลาด การเดินทางไม่สะดวก โดยมีการปลูกผักเพื่อประกอบอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียน มีการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ ในการจัดการอาหารกลางวันของโรงเรียน และสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สนับสนุนลดอ้วนเพิ่มออกกำลังกายในเด็กนักเรียนโดยร่วมมือกับโรงเรียนและผู้ปกครอง มีการเก็บข้อมูลเป็นระยะ โดยประสานกับรพ.สต. และการเชื่อมโยงกับชุมชน เช่น ให้ความรู้ชาวบ้านเรื่องอาหารปลอดภัย แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชให้ชาวบ้านและผู้ปกครองนำกลับไปปลูกที่บ้าน โดยมีการติดตามผลเพื่อกระจายเรื่องอาหารปลอดภัยสู่ครัวเรือน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนและชาวบ้านเป็นอย่างดี

ที่ตั้ง : ตำบลท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองพีพ่วน

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองพีพ่วน ต.เก่าย่าดี อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ เป็นพื้นที่ทำงานด้านอาหารกลางวันปลอดภัยของโครงการพัฒนาชุมชน ส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพหุบเขาภูแลนคา จ.ชัยภูมิ ภายในศูนย์มีเด็กวัย 2 – 4 ขวบ จำนวน 25 คน และครูผู้รับผิดชอบกับนักการและแม่ครัวรวม 3 คน โดยทางศูนย์ได้รับงบประมาณอาหารกลางวันจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบล วันละ 500 บาท วัตถุดิบหลักในการประกอบอาหารของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ ได้จากเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดสารพิษในชุมชนควบคู่กับการปลูกภายในแปลงปลูกของศูนย์ โดยมีที่มาจากความร่วมมือของอบต.เก่าย่าดี ทุกเมนูในแต่ละวันจะถูกรายงานไปยังอบต. ทั้งเรื่องวัตถุดิบในการปรุงและคุณค่าทางโภชนาการที่ได้รับแต่ละมื้อ เพื่อให้มั่นใจว่าเด็ก ๆ จะได้รับประทานอาหารปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อร่างกาย

ที่ตั้ง : ตำบลเก่าย่าดี อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ

โรงเรียนโคกจำเริญ

โรงเรียนโคกจำเริญ เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการจัดการอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 12 พื้นที่นำร่อง และลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการร่วมมือด้านการขับเคลื่อนสนับสนุนระบบการจัดการอาหารในโรงเรียนและชุมชนจังหวัดสุรินทร์ ระหว่างคณะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสถานศึกษา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและผู้นำชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงเรียนมีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งเพื่อการจัดการอาหารในโรงเรียน โดยการสร้างการมีส่วนร่วมของคณะครู นักเรียน และผู้ปกครองช่วยกันจัดหาและผลิตวัตถุดิบพืชผักผลไม้นำมาทำอาหารให้เด็ก ๆ ได้รับประทาน

พื้นที่ขนาด 45 ไร่ ของโรงเรียนบ้านโคกจำเริญ ส่วนหนึ่งถูกจัดสรรให้เป็นแปลงผักขนาดใหญ่ เช่น คะน้า ผักบุ้ง ตะไคร้ พริก ฟักทอง และอื่นๆ อีกมากมาย โดยมีนักเรียนเป็นผู้ดูแลตั้งแต่การเตรียมดิน หว่านเมล็ด รดน้ำเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ยังมีบ่อปลา โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งผลิตผลทั้งหมดจะถูกส่งเข้าสหกรณ์โรงเรียนเพื่อขายให้กับโครงการอาหารกลางวัน นอกจากสร้างรายได้ให้กับนักเรียนทุกระดับชั้น สร้างประสบการณ์ชีวิต ยังช่วยสร้างความมั่นคงทางแหล่งอาหารให้กับโรงเรียนอีกทางหนึ่ง

ที่ตั้ง : หมู่ที่ 5 ตำบลตานี อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์

โรงเรียนบ้านจรูกแขวะ

โรงเรียนบ้านจรูกแขวะ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เป็นอีกโรงเรียนของชุมชนที่มีการดำเนินงานการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ซึ่งทางโรงเรียนได้จัดทำมานานแล้ว จะเห็นได้ว่ามีการปลูกพืชผักและเลี้ยงปลาอย่างเป็นสัดส่วน กิจกรรมฝึกทักษะชีวิตผ่านฐานการทำเกษตรนี้ ในเวลาต่อมาได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็น “การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของนักเรียนในทุกระดับชั้น โดยครูจะปล่อยเด็กให้ลงทำการเกษตรและการออกกำลังกายในภาคบ่ายจึงทำให้ได้ลงสู่ทักษะชีวิต ก็คือการทำการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน และสามารถเชื่อมโยงสู่ครอบครัวได้ โดยพืชผักที่ปลูกไว้ก็จะเป็นปัจจัยหลักในการนำมาประกอบอาหารกลางวันให้กับเด็ก นอกจากนี้ภายใต้ข้อจำกัดของจำนวนครูในโรงเรียน อาหารกลางวันของนักเรียนโรงเรียนบ้านจรูกแขวะ จึงถูกจัดเตรียมวัตถุดิบและปรุงอาหารโดยครูและนักเรียนทำอาหารกลางวันเองร่วมกัน

จุดเด่นสำคัญของโรงเรียนบ้านจรูกแขวะ คือการมีพื้นที่ป่าธรรมชาติและต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่โรงเรียนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะสร้างความร่มรื่นให้แก่โรงเรียนแล้ว พื้นที่ป่าธรรมชาติยังถูกนำมาสร้างการเรียนรู้ฐานทรัพยากรจากป่าในชุมชน และขยายผลต่อพืชอาหาร และพืชสมุนไพรจากไม้ยืนต้นในพื้นที่ป่าของโรงเรียนได้อีกด้วย

ที่ตั้ง : ตำบลโคกยาง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์

โรงเรียนบ้านดงเค็ง

อาหารกลางวันของโรงเรียนบ้านดงเค็ง ได้ปรับใช้เมนูอาหารจากโปรแกรม Thai School Lunch ผ่านการคัดเลือกเมนูอาหาร และการคำนวณสัดส่วนโภชนาการจากโปรแกรม จากนั้นส่งต่อเมนูอาหารให้แม่ครัวของโรงเรียนรับทราบเมนูล่วงหน้า 1 ภาคการศึกษา ซึ่งทำให้แม่ครัวสามารถออกแบบและจัดการจัดหาวัตถุดิบปลอดภัยเข้าสู่ครัวโรงเรียนได้ ที่สำคัญคือ แม่ครัวของโรงเรียนยังเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านดงเค็ง จึงสามารถจัดหาวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ของกลุ่ม เข้าสู่โรงเรียนได้มากที่สุดเท่าที่จะจัดหาได้ ประกอบกับในชุมชนมี “ศูนย์สาธิตการตลาดและลานค้าชุมชนหลวงอุดม”  เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตของชุมชนที่ปลูกผัก ผลไม้ไว้บริโภคในครัวเรือน เมื่อเหลือจึงนำมาวางขายในศูนย์สาธิตฯ แห่งนี้ซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียน จึงทำให้โรงเรียนสามารถเข้าถึงวัตถุดิบที่มาจากครัวเรือนในชุมชน ซึ่งหากไม่เพียงพอแม่ครัวก็จะไปติดต่อกับ “ร้านค้าชุมชน” เพื่อจัดหาวัตถุดิบในส่วนที่เหลือ ซึ่งร้านค้าชุมชนแห่งนี้ก็เป็นอีกแหล่งรวบรวมผลผลิตจากชาวบ้านในละแวกใกล้ๆ มาวางขาย ทำให้เป็นอีกจุดกระจายผลผลิตจากชุมชนที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง แม้ว่าจะยังมีวัตถุดิบบางชนิดที่ต้องรับซื้อมาจากตลาดภายนอกชุมชน แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นจุดกระจายอาหารที่ได้วัตถุดิบส่วนหนึ่งภายในชุมชนด้วย

ที่ตั้ง : ตำบลจอมพระ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์